สำหรับมือใหม่ที่จะเข้าวงการอสังหาริมทรัพย์ คงต้องศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจคำศัพท์กันค่อนข้างมาก เนื่องจากคำศัพท์แวดวงอสังหาริมทรัพย์มีความเฉพาะตัวอยู่ไม่น้อย ดังนั้น เพื่อเพิ่มความเข้าใจและเตรียมความพร้อม เริ่มต้นจากทำความเข้าใจศัพท์แสง เพื่อจะคุยกับเขาให้รู้เรื่องก่อน
วันที่ 29 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประชาชาติ รวบรวมคำศัพท์ที่มักจะพบบ่อยเกี่ยวกับวงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาข้อมูล หรือสำหรับมือใหม่ที่ยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มาฝากกัน
1.Presales
หมายถึง ราคาขายก่อนเปิดโครงการอย่างเป็นทางการหรือโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ซึ่งราคาจะถูกกว่าหลังโครงการสร้างเสร็จแล้ว ข้อดีคือจะได้เลือกทำเลในโครงการก่อนใคร และมีโปรโมชั่นของแถมเยอะ แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยง เนื่องจากยังไม่เห็นโครงการจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร
2.Resales
หมายถึง ราคาขายเมื่อโครงการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีราคาสูงกว่าช่วง Presales ข้อดีคือมีความเสี่ยงน้อยกว่า สามารถเห็นทุกอย่างได้จริงไม่ว่าจะเป็นสภาพห้อง วัสดุที่ใช้ ทำเล วิว ส่วนกลาง ซึ่งจะเป็นส่วนในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ Resales ยังหมายถึงการขายดาวน์ ซึ่งเป็นการขายใบจองโครงการที่ถูกซื้อมาตั้งแต่ช่วง Presale
3.Capital Gain
หมายถึง อัตราค่าเฉลี่ยกำไรจากการขายอสังหาฯ โดยส่วนใหญ่นักลงทุนจะใช้ Capital Gain เป็นเกณฑ์ว่าจะซื้อ หรือลงทุนโครงการอสังหาฯนั้นหรือไม่ โดยเฉลี่ยแล้ว การลงทุนอสังหาฯ Capital gain อยู่ที่ 5-7% ต่อปี
4.Rental Yield Rate
หมายถึง อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยเช่า ซึ่งค่าเฉลี่ยของอัตราผลตอบแทนการลงทุนอสังหาฯ โดยเฉพาะคอนโดฯใจกลางกรุงเทพฯ ปัจจุบันผลตอบแทนอยู่ในระดับ 5-7%
5.Occupancy Rate
หมายถึง อัตราการเข้าอยู่อาศัยในโครงการนั้น ๆ ซึ่งถ้ามีอัตราการเข้าอยู่สูงแสดงว่าโครงการนั้นได้รับความนิยม
6.EIA (Environmental Impact Assessment Report)
หมายถึง การทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางโครงการต้องยื่นรายงานต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อประกอบการขออนุมัติพัฒนาโครงการ ซึ่งถ้า EIA ประเมินแล้วไม่ผ่านโครงการนั้นจะไม่สามารถก่อสร้างขึ้นได้ หรือกรณีก่อสร้างไปแล้วเกิดมีผู้คัดค้านผลการยื่นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการนั้นอาจจะต้องหยุดดำเนินการก่อสร้างทันที
7.Prime location/Prime Areas
หมายถึง ทำเลโลเกชั่นใจกลางเมืองที่มีศักยภาพ มีราคาต่อตารางเมตรสูง จึงมักเป็นที่นิยมของนักลงทุนอสังหาฯ เช่น ทองหล่อ สีลม ชิดลม สุขุมวิท
8.CBD (Central Business District)
หมายถึง ย่านศูนย์กลางธุรกิจ เป็นบริเวณที่เป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ เช่น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ โรงแรมที่พัก การคมนาคมขนส่ง ซึ่งทำเลหลัก ๆ ในปัจจุบัน คือ สีลม, สาทร, เพลินจิต, ราชประสงค์, ราชดำริ, สยาม, สุขุมวิท, อโศก เป็นต้น
9.New CBD (New Central Business District)
หมายถึง ย่านศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่ขยายเมืองตามการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกสบายของการเดินทางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเหมาะแก่การลงทุน โดยทำเลที่ถูกยกระดับให้เป็น New CBD ได้แก่ รัชดาภิเษก พระราม 9 และห้าแยกลาดพร้าว เป็นต้น ซึ่งเป็นย่านที่มาแรงสำหรับนักลงทุนอสังหาฯ ที่ราคายังไม่สูงมากเท่าพื้นที่ชั้นใน
10.Downtown
หมายถึง โซนเขตพื้นที่ชั้นในตัวเมือง แม้อาจไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองมากนัก แต่ยังมีแหล่งอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น อาคารสำนักงานบริษัทชั้นนำ ห้างสรรพสินค้า ตัวอย่างพื้นที่ในกรุงเทพฯ เช่น เพลินจิต-ชิดลม, สีลม-สาทร, สุขุมวิทตอนต้น เป็นต้น
11.Midtown
หมายถึง โซนเขตพื้นที่ชั้นกลาง ที่เขยิบออกมาจากโซนพื้นที่ชั้นใน เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ไม่ไกลจากในตัวเมืองมาก เช่น ย่านอ่อนนุช เพชรบุรี ลาดพร้าว รัชโยธิน พหลโยธิน พระราม 9 รัชดาภิเษก เป็นต้น
12.Freehold
หมายถึง การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แบบขายขาด ซึ่งผู้ซื้อจะได้กรรมสิทธิ์ไปครอบครองอย่างเต็มตัว และสามารถปรับปรุง ซ่อมแซม ตกแต่งห้องได้ หากคอนโดฯเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ หรือถูกเวนคืนขายที่ดิน ผู้ซื้อก็ได้ค่าชดเชยตามสัดส่วนในโฉนดที่ดิน
13.Leasehold
หมายถึง การเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในระยะยาว โดยไม่ได้กรรมสิทธิ์ ส่วนใหญ่มักจะให้เช่าระยะเวลา 30 ปี ราคาจะต่ำกว่าโครงการแบบ Freehold ในทำเลเดียวกัน แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสิทธิค่าชดเชยในส่วนของที่ดินและอาคาร หากเกิดการชำรุดเสียหายจากภัยพิบัติ หรือถูกเวนคืนที่ในช่วงที่ยังติดสัญญาเช่าอยู่
ทั้งนี้ยังมีคำศัพท์อีกหลายคำที่ยังต้องศึกษาและทำความเข้าใจอีกมาก เพื่อเป็นแนวทางในการลงมาเล่นอสังหาริมทรัพย์อย่างปลอดภัย
ที่มา:https://www.prachachat.net/property/news-1247221
วันที่ 31/3/2023